งานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาด ขอนแก่น
งานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาด
ขอนแก่น ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ และ “แคนแก่นคูน” คือ ลายผ้าไหมประจำจังหวัดที่แสดงอัตลักษณ์เมืองขอนแก่น
ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ของจังหวัดขอนแก่นนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 จังหวัดขอนแก่น ได้รับการรับรองจากสภาหัตถกรรมโลก World Craft Council (WCC)-UNESCO ให้เป็น “เมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่“
อีกหนึ่งประเพณีเก่าแก่คือ ประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มวัฒนธรรมไท–ลาว โดยคำว่า “เสี่ยว“นั้น ในภาษาอีสานมีความหมายว่า “เพื่อนรัก หรือ เพื่อนตาย” ซึ่งการผูกเสี่ยว คือ การสัญญาที่จะเป็นเพื่อนรักร่วมเป็นร่วมตายกัน โดยใช้ฝ้ายมงคลผูกข้อมือของแต่ละคนเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ทั้งคู่
เพื่อการสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่นจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำเอาประเพณีผูกเสี่ยวและงานไหมมาจัดร่วมกันจนเกิดเป็น “งานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2562” ซึ่งงานนี้ได้จัดมาเป็นเวลานานกว่า 41 ปีแล้ว
ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น ขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ซึ่งประดับตกแต่งขบวนโดยเน้นถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น การจัดพิธีผูกเสี่ยวและคุ้มศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการจัดประกวดนางงามไหมขอนแก่น มีการแสดงนวัตกรรมด้านวิชาการที่เกี่ยวกับไหม และพิเศษสุดกับการประกาศลายผ้าไหมประจำจังหวัดขอนแก่น คือ ลาย “แคนแก่นคูน” ที่ได้รวบรวมลายผ้าทั้งหมด 7 ลายเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ลายแคน หมายถึง สัญลักษณ์แทนความเจริญและสนุกสนาน, ลายดอกคูณ หมายถึง ดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น, ลายพานบายศรี หมายถึง มิตรภาพ ประเพณีการผูกเสี่ยว, ลายขอ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของขอนแก่น, ลายโคม หมายถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรมของชาวขอนแก่น, ลายกง หมายถึง อาณาเขตที่ได้รับการรักษาให้มั่นคง ปลอดภัย และลายหมากจับ หมายถึง ความรัก ความสามัคคี ของชาวขอนแก่น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น