New Culture of Thailand วิธีการศึกษาคือ ศึกษาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชั้นนำ
รุจน์ โกมลบุตร และคณะ
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำสำคัญ: การวิเคราะห์เนื้อหา, นักการเมืองท้องถิ่น, หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น, ลำปาง
บทคัดย่อ
บทความเรื่อง “การนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมืองท้องถิ่นของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลำปาง” เป็นผลมาจากการศึกษาในหัวข้อเดียวกัน มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมืองท้องถิ่นของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อฉบับต่างๆ ของลำปางว่ามีการนำเสนอเป็นอย่างไร การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ และใช้แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ และจริยธรรมของสื่อมวลชน
วิธีการศึกษาคือ ศึกษาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชั้นนำ 4 ชื่อฉบับในจังหวัดลำปาง ได้แก่ ฅนเมืองเหนือ (รายสัปดาห์ เน้นข่าวอาชญากรรม) แมงมุม (รายสัปดาห์ เน้นข่าวอาชญากรรม) ลานนาโพสต์ (รายสัปดาห์ เน้นข่าวเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และอาชญากรรม) และ ลำปางนิวส์ (รายปักษ์ เน้น ข่าวอาชญากรรม) ออกจำหน่ายระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2560 รวม 6 เดือน ทั้งนี้จะพิจารณาข่าว บทความ และภาพข่าวที่ปรากฏในทุกหน้าว่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมืองท้องถิ่นในปริมาณเท่าใด รูปแบบใด และมีเนื้อหาประเภทใด โดยมีหน่วยเป็นชิ้นและตารางนิ้ว
การศึกษาพบว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลำปางนำเสนอเนื้อหานักการเมืองท้องถิ่นคิดเป็นร้อยละ 4.80 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยนำเสนอในรูปแบบ “ภาพ” มากที่สุด ตามด้วย “ข่าว” และ “บทความ” น้อยที่สุด รวมทั้งนำเสนอเนื้อหา “ประเภทงานของสำนักงาน” มากที่สุด รองลงมาคือ “เรื่องส่วนตัวของนักการเมือง” และประเภท “ปัญหาสำนักงาน” น้อยที่สุด
หนังสือพิมพ์ ลานนาโพสต์ มีสัดส่วนของพื้นที่การนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับ นักการเมืองเปรียบเทียบกับเนื้อหาอื่นๆ มากที่สุด มีพื้นที่นำเสนอในรูปแบบข่าวมากที่สุด มีพื้นที่การนำเสนอที่หน้า 1 มากที่สุด ทั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายของลานนาโพสต์ ที่ไม่ได้เน้นข่าวอาชญากรรมอย่างเดียวเหมือนหนังสือพิมพ์ชื่อฉบับอื่นๆ
กิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง เป็นนักการเมืองที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลำปางนำเสนอมากที่สุด เป็นแหล่งข่าวที่ปรากฏในเนื้อหา “ประเภทงานของสำนักงาน” และ “ปัญหาของสำนักงาน” มากที่สุด ขณะที่ ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีตรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลำปางนำเสนอมากเป็นอันดับสอง โดยปรากฏในเนื้อหา “ประเภทเรื่องส่วนตัว” มากที่สุด
ข้อเสนอแนะจากการวิจัยคือ สื่อท้องถิ่นควรเพิ่มสัดส่วนการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพิ่มความสมดุลของเนื้อหาทั้งสามประเภทให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่ม “ประเภทปัญหาของสำนักงาน” เพื่อช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองแทนประชาชน และกระจายการนำเสนอชื่อและบทบาทของนักการเมืองให้หลากหลาย เพื่อนำเสนอให้เป็นข้อมูลทางเลือกแก่ประชาชน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น